เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 โตเกินคาด 5.2% ฝ่ามรสุมสงครามการค้าสหรัฐฯ และวิกฤตภายใน

ปักกิ่ง – สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานวันนี้ (15 ก.ค. 2568) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่รอยเตอร์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้เฉลี่ยที่ร้อยละ 5.1 แม้จะชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรก ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 เศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 5.3 ท่ามกลางความท้าทายจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และปัญหาโครงสร้างภายในประเทศ

นาย Sheng Laiyun รองกรรมาธิการ NBS กล่าวว่า การเติบโตนี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแรงกดดันจากภายนอกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก


จีนเร่งปิดดีล “ภาษีทรัมป์” หันส่งออกอาเซียนพุ่งกระฉูด

สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงถึงร้อยละ 145 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญที่สุดของโลก แม้จะมีข้อตกลงพักรบชั่วคราวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ที่เจนีวา ซึ่งช่วยลดภาษีลงบางส่วน แต่จีนยังมีเวลาถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2568 เพื่อเจรจาข้อตกลงถาวรกับสหรัฐฯ

เพื่อรับมือกับผลกระทบ ผู้ผลิตจีนได้กระจายการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกลายเป็นจุดหมายสำคัญแทนสหรัฐฯ การส่งออกไปอาเซียนในเดือนมิถุนายนพุ่งสูงถึงร้อยละ 18 โดยเฉพาะเวียดนามที่เติบโตร้อยละ 25 ผ่านกลยุทธ์ส่งสินค้าผ่านเวียดนามเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีร้อยละ 40 สำหรับสินค้าที่ส่งผ่าน นอกจากนี้ การส่งออกแร่หายากก็เติบโตร้อยละ 32 ในเดือนมิถุนายน และจีนยังขยาย “วงเพื่อน” ทางการค้าไปยังสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก ส่งผลให้การส่งออกโดยรวมในเดือนมิถุนายนโตร้อยละ 5.8 และการนำเข้าเพิ่มร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568


ฝ่าสงครามการค้า แต่ปัญหาอสังหาฯ เงินฝืด และว่างงานเยาวชนยังน่าห่วง

แม้ GDP จะเติบโตเกินคาด แต่จีนยังคงเผชิญปัญหาโครงสร้างภายในที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาวะเงินฝืดที่ย่ำแย่ โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงร้อยละ 3.6 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 33 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 จากเงินอุดหนุนของรัฐ แต่การฟื้นตัวอาจไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ การบริโภคยังชะลอลง โดยยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนโตเพียงร้อยละ 4.8 จากร้อยละ 6.4 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมโตร้อยละ 6.8 ได้แรงหนุนจากข้อตกลงพักรบทางการค้า

ปัญหาการว่างงานในกลุ่มเยาวชน (อายุ 16-24 ปี) ยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ โดยอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 14.9 ซึ่งแม้จะลดลงจากระดับสูงสุดแต่ก็ยังน่ากังวล ส่วนกลุ่มอายุ 25-29 ปี ลดเหลือร้อยละ 7 ปัญหาเงินฝืดและสงครามราคาในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น รถยนต์ ทำให้ผลกำไรและค่าจ้างลดลง รัฐบาลจีนได้แสดงความกังวลและเรียกร้องให้ยุติการแข่งขันลดราคาที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ


รัฐบาลจีนออกมาตรการเร่งด่วน อุดหนุน 1,500 หยวน/คน แก้วิกฤตว่างงานเยาวชน

Nick Marro หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Economist Intelligence Unit กล่าวกับ CNN ว่า สงครามการค้าไม่ได้กระทบหนักอย่างที่เคยกลัวเมื่อเดือนเมษายน 2568 แต่ปัญหาภายใน เช่น วิกฤตอสังหาฯ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ อาจทำให้จีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตร้อยละ 5 ในปีนี้ได้ เขายังชี้ว่าตัวเลข GDP ร้อยละ 5.2 อาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่าย การลงทุน และการจ้างงานในอนาคต

Zichun Huang จาก Capital Economics เตือนว่าครึ่งปีหลังจะยังคงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายจากภาษีสหรัฐฯ ที่ยังสูง การใช้จ่ายทางการคลังที่ลดลง และปัญหาโครงสร้างภายใน เช่น อสังหาฯ และเงินฝืด ซึ่งอาจทำให้การเติบโตชะลอลงได้

เพื่อรับมือปัญหาการว่างงานและเศรษฐกิจที่ซบเซา คณะรัฐมนตรีจีน (State Council) ได้ประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพการจ้างงาน รวมถึงการขยายประกันสังคม การสนับสนุนสินเชื่อ และการฝึกอบรมอาชีพ โดยเฉพาะสำหรับเยาวชน รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนครั้งเดียว 1,500 หยวน (ประมาณ 6,800 บาท) ให้กับบริษัทที่จ้างเยาวชนอายุ 16-24 ปี และจ่ายประกันสังคมครบ 3 เดือน รวมถึงสนับสนุนนักศึกษาจบใหม่ด้วยการแนะนำงานอย่างน้อย 3 ตำแหน่ง การฝึกงาน และการแนะแนวอาชีพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน หวังกระตุ้นการบริโภคและพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางความท้าทายจากทั้งภายในและภายนอก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *